กฤตภาค



  กฤตภาค ( clipping )  เป็นสื่อการศึกษาประเภทหนึ่งในจำนวนหลายประเภท ที่ใช้เป็นสื่อการอ่านเสริมประสบการณ์ การเรียนการสอนและศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจ
                    กฤตภาค  มาจากคำว่า “ กฤต ” และ “ ภาค  พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 กล่าวว่า กฤต “ เป็นคำนามหมายถึง เหตุ ผล การทำ  “ ภาค “ หมายถึง ส่วน ข้าง ฝ่าย  คราว (1)  เมื่อนำคำสองคำมารวมกันเป็น กฤตภาค จึงน่าจะหมายถึง การนำบางเรื่องจากสิ่งพิมพ์มาแสดง
                    “ กฤตภาค ” คือ ข้อความที่ตัดออกจากหนังสือพิมพ์และวารสารเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ข่าวสารการเมือง การศึกษา กีฬา ชีวประวัติ และสาระสำคัญอื่น ๆ เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป  ซึ่งเปลืองเนื้อที่น้อยกว่าการเก็บทั้งสองฉบับ ( 2 )
                    กฤตภาค นับเป็นสื่อการอ่านที่ให้ข้อมูลที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน มีเหตุการณ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีในหนังสือเลย สามารถผลิตได้ง่าย  สะดวก  ประหยัด  มีประโยชน์คุ้มค่าด้วยข้อมูลที่สมบูรณ์ภายในหนึ่งเรื่อง สำหรับกฤตภาค 1 แผ่น อาจเป็นรูปภาพ ข่าว บทความ ฯลฯ
                    สาระสำคัญอันเป็นประโยชน์ ที่ได้รับจากกฤตภาคจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
วัตถุประสงค์และการเลือกข้อมูลของผู้ผลิต
สิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการทำกฤตภาค    
                    1. หนังสือพิมพ์
                    2. วารสารที่ไม่มีคุณค่าพอแก่การเย็บเล่ม            
                    3. จุลสาร
                    4. สิ่งพิมพ์อื่น ๆ

สิ่งที่ควรเก็บเพื่อจัดทำกฤตภาค

                    1. ข่าว   ได้แก่ ข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการศึกษา,ข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญ ข่าวต่างประเทศ ข่าวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ การค้นพบ การสำรวจ หรือวิทยาการก้าวหน้าใหม่ ฯลฯ
                        2. เรื่องราว หรือ บทความ ได้แก่  ประวัติบุคคลที่น่าสนใจ สถานที่สำคัญ  เกร็ดประวัติศาสตร์  การค้นพบและการประดิษฐ์ต่าง ๆ  แนะนำและวิจารณ์หนังสือ  ความรู้ทั่วไป ฯลฯ
                        3. ภาพ ได้แก่ ภาพบุคคลสำคัญ  สถานที่สำคัญ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ภาพเกี่ยวกับธรรมชาติศึกษา  ศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ  ภาพแสดงกรรมวิธีการทำสิ่งของต่าง ๆ  ภาพเหตุการณ์สำคัญ   กิจกรรมต่าง ๆ ฯลฯ

การเลือกข้อความ

                    ผู้ผลิตกฤตภาคไม่ควรพิจารณาจากพาดหัวข่าว หรือหัวข้อเรื่อง  เพราะพาดหัวข่าวหรือหัวข้อเรื่อง  มุ่งการประชาสัมพันธ์มากกว่าสาระ ดังนั้นการเลือกรูปภาพ  ข่าว  บทความใด ๆ ควรอ่านข้อมูลให้ตลอด   เพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลที่เลือก นั้นมีประโยชน์ อยู่ในความสนใจ น่าเชื่อถือ การเรียงลำดับข้อมูลมีสาระมากพอ  ถ้าเป็นรูปภาพ  ควรเป็นรูปภาพที่สวยงาม  ชัดเจน  และหายาก  มีคำอธิบายภาพประกอบ ภาพใหญ่พอให้นักเรียนดูได้ทั้งชั้น (1)
          ข้อความที่จะตัดมาทำกฤตภาค    ควรได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้ข้อความที่มีคุณค่า  มิฉะนั้นก็จะรกตู้ รกห้องเปล่า ๆ 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกฤตภาค

                    1. กระดาษโรเนียวอย่างหนา หรือกระดาษโปสเตอร์อย่างบาง
                    2. กาวหรือแป้งเปียก
                    3. ผ้าสะอาด
                    4. ที่เย็บกระดาษ หรือเข็มหมุด หรือลวดเสียบกระดาษ                          
                    5. ดินสอ ปากกาลูลื่นสีแดงและดำ อย่างละ 1 ด้าม
                    6. ไม้บรรทัด ยางลบ
                    7. กรรไกร
การทำกฤตภาค
           มีวิธีการทำดังนี้
                    1. สำรวจคัดเลือกข้อความตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ   แล้วตัดข้อความทีละเรื่อง  เพื่อมิให้สับสนตัดให้ครบด้วยความประณีต มีขอบ ถ้าเป็นภาพต้องตัดคำอธิบายติดมาด้วย
2. เขียนแหล่งที่มาของข้อความ คือ ชื่อหนังสือพิมพ์ หรือวารสาร ปีที่ ฉบับที่ วันเดือน ปี และหน้าที่ตีพิมพ์ข้อความนั้น
3. เรียงชิ้นส่วนแต่ละเรื่อง แล้วเย็บรวมกันเป็นปึกของแต่ละเรื่อง
                    4. จัดชิ้นส่วนที่จะผนึกบนกระดาษทำกฤตภาค กะให้ได้สัดส่วนงดงาม เหลือ
เนื้อที่ด้านข้างทั้งซ้ายขวา บนและล่างให้ได้สัดส่วนกัน  ถ้าหากข่าวหรือเรื่องราวยาว จะต้องกะดูว่า
จะติดในแผ่นเดียวกันหมดหรือจะติดต่อในอีกแผ่นหนึ่ง  เมื่อกะแน่นอนแล้วใช้ดินสอทำเครื่องหมายไว้ ถ้าหากภาพมีขนาดโตไม่สามารถติดบนกระดาษโรเนียวได้  ก็ควรจะใช้กระดาษโปสเตอร์อย่างบาง ตัดให้ขนาดพอเหมาะกับภาพนั้น  ถ้าภาพนั้นมีคำอธิบายสั้น ๆ ใต้ภาพ อาจจะติดไว้หน้าเดียวกับภาพ แต่ถ้าคำอธิบายยาว ควรติดไว้ด้านหลังของภาพนั้น
                    5. ใช้กาวหรือแป้งเปียกทาตรงริมด้านหลังของข่าวหรือภาพนั้นบาง ๆ ให้ตลอดทั้ง4 ด้านแล้วค่อย ๆ วางลงบนแผ่นกระดาษที่ทำเครื่องหมายไว้
                    6. ใช้มือค่อย ๆ รีดขอบของข่าวหรือภาพนั้นให้เรียบเสมอกันทั้ง 4 ด้าน ถ้าหากเลอะออกมาข้างนอก ควรเช็ดออกให้หมด
                    7. ใช้ปากกาสีดำ  เขียนชื่อหนังสือพิมพ์  หรือวารสาร  หรือจุลสาร ที่ตัดข่าวหรือภาพนั้นมาพร้อมทั้ง วัน เดือน ปี และหน้าที่ลงข่าวหรือภาพนั้น ที่มุมล่างด้านซ้าย และใช้ปากกา
สีแดงเขียนหัวเรื่องที่มุมด้านขวา
                    8. หาของหนัก ๆ ทับ เพื่อว่าเวลาแห้งแล้วกระดาษจะเรียบ
                    9. จัดภาพหรือเรื่องราวที่มีหัวเรื่องเกี่ยวกันไว้ด้วยกัน ในแฟ้มเดียวกัน แล้วเขียนหัวเรื่องกำกับไว้ที่แฟ้มด้วยสีแดง ถ้าภาพขนาดโตควรหาที่เก็บไว้ต่างหาก
                    หัวเรื่อง  กำหนดขึ้นแทนข้อมูลของเรื่อง ประกอบด้วยคำ หรือวลี มีลักษณะเป็นคำเดียวหรือกลุ่มคำที่ให้ความหมายเด่นชัด ได้ใจความ สั้น กะทัดรัด  ได้แก่     ภาษาไทย - ประวัติศาสตร์   บ้านกับโรงเรียน  อาหาร เครื่องดนตรีไทย ดาราศาสตร์  (1 ) ฯลฯ
                    ดั้งนั้น หัวเรื่องจึงไม่ใช่ชื่อเรื่อง ชื่อภาพหรือพาดหัวข่าว แต่เป็นกลุ่มคำที่ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดใช้ข้อมูลของเรื่องนั้นแบ่งแทนหัวเรื่องใหญ่ และหัวเรื่องย่อย
หัวเรื่องใหญ่   เป็นหัวเรื่องทั่ว ๆ ไป  ไม่เน้นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง  มักใช้คำเดียวกำหนดหัวเรื่องได้แก่ วิทยาศาสตร์  ประวัติศาสตร์  ถ้ามีการกำหนด ขอบเขตของข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ข้อมูลที่ให้ความรู้ด้านโบราณคดี ที่เน้นเกี่ยวกับประวัติโบราณคดี หัวเรื่องที่กำหนด คือ โบราณคดี - ประวัติศาสตร์ “ ประวัติ “ เป็นหัวเรื่องย่อย ที่ต้องตามหลัง
หัวเรื่องใหญ่ โดยใช้ - ( ขีด ) คั่นระหว่างหัวเรื่องใหญ่กับหัวเรื่องย่อย
                    สำหรับการให้หัวเรื่องที่มีข้อมูลสัมพันธ์กันสองเรื่อง ใช้ “ และ “ คั่นคำทั้งสอง ถ้าข้อมูลตรงกันข้ามใช้ “ กับ “ คั่นคำ เช่น บ้านกับโรงเรียน
                    กรณีที่หัวเรื่องเป็นกลุ่มคำ ได้แก่ การปรุงอาหาร  การให้หัวเรื่องประเภทนี้ ต้องย้ายคำที่เน้นหนักมาไว้ข้างหน้า โดยใช้จุลภาคคั่น เป็น อาหารการปรุง   การเลี้ยงกบเป็น    กบ,การเลี้ยง ฯลฯ
                   

การนำกฤตภาค  ไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการอ่าน เสริมประสบการณ์ มีหลายรูปแบบ   ขึ้นอยู่กับวิธีการและกระบวนการของผู้นำไปใช้  เช่น  จัดนิทรรศการ    จัดเกมฝึกความคิด  เชาวน์ปัญญา  จัดกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาทักษะรายวิชาต่างๆหรือนำไปใช้เป็นสื่อการสอนในชั้นเรียนซึ่งใช้ได้ทุกกลุ่มสาระ ฯลฯ
                   

          บทสรุป   กฤตภาค เป็นวัสดุที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเอง เพื่อประโยชน์สำหรับใช้เป็นเอกสารค้นคว้าอ้างอิง วิธีการจัดทำกฤตภาค ไม่ยุ่งยาก โดยการตัดเรื่องราว หรือข้อความ จากวารสารและหนังสือพิมพ์ ติดลงบนกระดาษ บอกแหล่งที่มาให้หัวเรื่อง เก็บใส่แฟ้มตามตัวอักษร ก - ฮ เรียงใส่ตู้กฤตภาค  










No comments:

Post a Comment